EP 2: การสะสม กับ กล่องบรรจุปัญญา <บทที่ 1> : สะสมภูมิปัญญา
ภูมิปัญญาของมนุษยชาติส่งต่อกันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบและหลากหลายวิธีการ ทั้งจับต้องไม่ได้ กึ่งจับต้องได้ และที่เป็นวัตถุจับต้องได้ การสะสมมรดกเหล่านี้ จึงเท่ากับสะสมภูมิปัญญา
“การสะสมสิ่งของ เป็นกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการสั่งสมทางวัฒนธรรมของมนุษย์” ประโยคที่ขึ้นต้นในบทความวิชาการของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เรื่อง ความหมายของสิ่งของ จากการสะสมถึงพิพิธภัณฑสถานในยุโรป (https://db.sac.or.th/museum/article/16) เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่เราจะใช้ในการพิจารณาคุณค่าของการสะสมในบทนี้
ทำไม “วัตถุ” จึงมีคุณสมบัติที่สามารถส่งต่อวัฒนธรรมของมนุษยได้?
คำถามนี้ อาจไม่จำเป็นต้องถาม เพราะก็เห็นๆ กันอยู่แล้ว
แต่หาก ไม่เชื่อว่า “สิ่งที่เรา เห็นๆ กันอยู่” จะเป็นจะเป็นสากลหรือเป็นปกติธรรมดาล่ะ
เรามาลองพยายามสักนิด เพื่อตอบคำถามถึงสิ่งนี้กัน
ถ้าเช่นนั้น! ก็คงอาจจะต้องเริ่มต้นจากความหมายของ “วัฒนธรรม”
มีรายงานข่าวจาก BBC (https://www.bbc.com/thai/international-47938349)
— ลิงชิมแปนซีค้นพบวิธีการใช้เครื่องมือหาอาหาร กักตุนน้ำ และการสื่อสาร อันซับซ้อน และลูกลิงชิมแปนซีก็จะค่อย ๆ เรียนรู้สิ่งเหล่านี้เมื่อโตขึ้น แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ว่า ชุดความรู้เหล่านี้ของลิงชิมแปนซีกำลังเสี่ยงถูกทำลายเมื่อมนุษย์เข้าไปคุกคามที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมัน นักวิจัยที่สถาบันมานุษยวิทยาด้านวิวัฒนาการ แมกซ์ แพลงค์ (Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology) และศูนย์วิจัยเยอรมนีเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (the German Centre for Integrative Biodiversity Research หรือ iDiv) พบว่า ในพื้นที่ทั่วแอฟริกาที่ได้รับผลกระทบจากมนุษย์ พฤติกรรมลิงชิมแปนซีจางหายไปโดยเฉลี่ยถึง 88 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มนุษย์เข้าไปยุ่งเกี่ยวน้อย —
ในรายงานข่าวนี้ เราจะพบกิจกรรมหลายๆ อย่าง ที่ลิงเรียนรู้และส่งต่อให้แก่กัน หากนี่คือสิ่งที่เรียกได้ว่า “การก่อรูปของวัฒนธรรม” หรือจะเรียกว่า “วัฒนธรรม” ก็ตาม (ในรายงานเรียกว่า – วัฒนธรรม) เราจะพบว่า มี “สิ่งของ” เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เกิดขึ้น เช่น ไม้ที่ใช้หาสาหร่ายในน้ำ หินที่เอาไปกองรวมกันไว้ตรงลำต้นต้นไม้ เป็นต้น
เพราะวัฒนธรรมในความหมายนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ อันเป็นกลไกที่เริ่มต้นภายในสมองของสัตว์รวมถึงมนุษย์ ดังนั้นกิจกรรมหรือกระบวนการ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่บรรจุอยู่ในสมองของสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่ง ส่งต่อไปยังตัวอื่นๆ จึงเกิดขึ้นโดยใช้สื่อกลางระหว่างกัน โดยผ่านการมอง การฟัง และการทดลองทำซ้ำ จนในที่สุดเกิดความเชี่ยวชาญ กลายเป็นรูปแบบในกลุ่มสิ่งมีชีวิตนั้นๆ
สิ่งของ จึงเป็นทั้ง อุปกรณ์ รวมถึง เป็นผลลัพธ์ ทางวัฒนธรรม
เริ่มต้นจาก “ภาษา” อันเป็นสื่อกลางระหว่างสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งไปยังตัวอื่นๆในกลุ่ม ทั้งเสียงโหวกเหวกโวยวาย สีหน้าท่าทาง หรือภาษาที่มีโครงสร้างทางไวยกรณ์ก็ตาม วัฒนธรรมที่เรียกว่าภาษาถ่ายทอด และร้อยเรียงเป็น “เรื่องเล่า” ประกอบกับสุนทรียะ (Aesthetics) และความงาม ที่เกิดขึ้นอยู่ภายในสมองอันซับซ้อนของมนุษย์ การร้องเล่นเต้นรำ สวดมนต์ ภาวนา ร้องเพลงสรรเสริญ การกล่อมเด็ก ก็กลายเป็นผลลัพธ์ทางวัฒนธรรม โดยมีภาษาเป็นอุปกรณ์กลางในการสื่อสาร
ทว่าในความซับซ้อนของสมองนั้นเอง ความทรงจำของมนุษย์กลับเปลี่ยนแปลงง่าย และมีขีดจำกัด อุปกรณ์ที่ใช้เพื่อให้สามารถเล่าเรื่องเดิมๆได้แม่นยำยิ่งขึ้น จนสามารถส่งต่อและกลายเป็นวัฒนธรรมได้นั้น ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งทางวัฒนธรรมด้วย ภาพเขียนผนังถ้ำ รูปปั้น ตัวอักษร สิ่งนี้เอง “สิ่งของ” จึงถูกใช้ในฐานะอุปกรณ์เพื่อบรรจุความทรงจำทางวัฒนธรรมโดยปริยาย การดำเนินไปไม่สิ้นสุดเพียงเท่านั้น ตัวอักษรที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น สามารถสะสมภูมิปัญญาของมนุษย์ข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยาวนาน จากรุ่นสู่รุ่น จากดินแดนหนึ่งสู่ดินแดนหนึ่ง ข้ามทั้งทั้งเวลา (Time) และสถานที่ (Space) และสะสมพอกพูน จนสามารถพูดได้ว่า อารยธรรมของมนุษย์ยืนขึ้นบนไหล่ยักษ์ (Standing on the shoulders of giants : nanos gigantum humeris insidentes) และวัตถุที่สะสมเป็นอุปกรณ์หนึ่งในการสร้างอารยธรรมนั้น
ในบทถัดไปเราจะชวนให้ตั้งคำถามเพิ่มอีกสักหน่อย วัตถุที่สะสมทำไมถึงมีคุณลักษณะพิเศษและมันมีกลไกใดบ้างที่ภูมิปัญญาไปบรรจุอยู่ได้ในนั้น
ผู้เขียน : Kunstkammer
#Collection #Minimalism #การสะสม #ปรัชญา #วัฒนธรรม