EP 2: การสะสม กับ กล่องบรรจุปัญญา <บทที่ 2> : ศักยภาพส่งต่อภูมิปัญญา
วัตถุที่สะสมไว้ มีศักยภาพส่งต่อภูมิปัญญาที่อยู่ห่างไกลทั้งเวลา (Time) และสถานที่ (Space) แม้เนื้อหนังของมนุษย์จะสลายไป แต่สิ่งสะสมยังคงดำรงอยู่ และมนุษย์ยังหวังว่ามันจะดำรงอยู่ต่อไป เพื่อให้มนุษย์ที่มียังชีวิตอยู่ในภพนี้หรือภพใดๆได้รับคุณค่าจากมัน
ในบทนี้ เราจะลองตั้งคำถามว่า วัตถุที่สะสมทำไมถึงมีคุณลักษณะพิเศษ และมันมีกลไกใดบ้างที่ภูมิปัญญาสามารถเข้าไปบรรจุอยู่ได้ในนั้น
หากเราลองพิจารณา ชิ้นส่วนเศษภาชนะดินเผา ภาชนะไม้ ชิ้นส่วนจักสาน ชิ้นส่วนผ้า ลูกปัดแก้ว แหวนสำริด และกำไลเหล็ก ที่พบในแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรัก (อ้างอิง : https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/view/45485/37624) เราอาจจินตนาการได้ว่า พวกเขา (คนที่ยังมีชีวิตอยู่) ได้ใส่วัตถุสิ่งของเข้าไปในโลงไม้ โดยมีความเชื่อว่า “วัตถุเหล่านั้นจะยังมีประโยชน์ หรือมีคุณค่า ต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือมีประโยชน์ต่อภาวะที่ยังคงอยู่หลังความตาย”
อ. รัศมี ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในประชาไท ว่า — เขาก็จะเอาพวกของเซ่น ความหมายก็คือให้กับผู้ตาย สำหรับไปกินในโลกหน้าหรืออะไรแบบนี้ แสดงว่าพิธีกรรมเหล่านี้มีมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ แล้วจริง ๆ มันไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ในพื้นที่อื่น ๆ ในโลกมันก็มีความเชื่อแบบนี้ ที่เป็นความเชื่อสากลที่มนุษย์เชื่อว่าเวลาคนตายแล้วจะต้องมีของเซ่นที่เป็นอาหาร บางครั้งก็จะมีของเซ่นที่เป็นวัตถุอื่น ๆ ที่ใส่เข้าไปด้วย อาจจะเป็นของใช้ส่วนตัวของคน ที่มักจะใส่เข้าไปด้วย — (อ้างอิง : https://prachatai.com/journal/2020/01/86060)
การใส่สิ่งของในโลงไม้เช่นนี้ อาจไม่เกี่ยวข้องกับการสะสมสิ่งของเลย หรืออย่างน้อยคนที่ใส่เข้าไปก็ไม่ได้ต้องการสะสมสิ่งของเหล่านั้น แล้วมันเกี่ยวข้องอย่างไรกับการสะสม?
อ. ธเนศ วงศ์ยานนาวา พูดใน In Relationships | EP. 01 | ทำไมมนุษย์ต้องมีครอบครัว? (https://www.youtube.com/watch?v=RM8s0jEt3zg&t=1981s) นาทีที่ 17:40 ธเนศ กล่าวถึงประเด็นการส่งผ่านมรดก การส่งผ่านทรัพย์สิน หากดูในไบเบิล พระเจ้าสัญญาว่าจะมอบดินแดนคานาอัน ซึ่งเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ให้อับราฮัม แต่เขายังไม่มีลูกที่จะรับช่วงต่อมรดก จึงต้องมีภรรยาคนที่สองเพื่อให้มีทายาทส่งผ่านมรดกที่ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้า
เราจะเห็นว่า ไม่ใช่เพียงเพราะเรามีทายาท จึงจำเป็นต้อง “ทำเพื่อลูก – ทำเพื่อครอบครัว” พ่อแม่จึงสะสมทรัพย์สมบัติหรือสิ่งของต่างๆ เพื่อทำให้ทายาทของเขาอยู่ได้อย่างดีและมีความสุข ในทางกลับกัน ก็เพราะมีสิ่งของหรือมรดกที่มีค่า จึงจำเป็นต้องมีทายาทเพื่อรับช่วงต่อทรัพย์สมบัติ หรือมรดกอันมีค่านั้นด้วยเช่นกัน
มาถึง ณ จุดนี้ เราอาจจะปะติดปะต่อภาพบางอย่าง เกี่ยวกับพื้นฐานความเป็นมนุษย์และการสะสม
- การทำเพื่อครอบครัวหรือคนที่เรารัก ทั้งที่กำลังจะเกิด หรือตายไปแล้วก็ตาม สิ่งของกลายเป็นสื่อกลางในการส่งต่อความมั่งคั่งไปสู่พวกเขาทั้งโลกนี้และโลกหน้า
- ก็เพราะสิ่งของ ทรัพย์สมบัติ หรือมรดกเหล่านี้มีคุณค่าเกินกว่าจะทิ้งขว้าง จึงจำเป็นต้องถูกส่งต่อโดยมีทายาทเป็นผู้รับช่วงต่อคุณค่า
จุดนี้เอง การใส่สิ่งของในโลงไม้ จึงเกี่ยวข้องกับการสะสม โดย “สิ่งของ” ถูกใช้เป็นเครื่องมือที่บรรจุคุณค่าเหล่านั้น ส่งผ่านไปยังทายาท หรือผู้รับคุณค่า
คำถามจึงขมวดปมเข้ามายังแก่นกลางของบทนี้ คือ สิ่งของมีคุณสมบัติอะไรที่สามารถทำเช่นนั้นได้?
เราอาจต้องเจาะเข้าไปถึงสติปัญญาของมนุษย์ รากฐานของแรงงาน และข้อตกลงของกลุ่ม ว่าผลไม้ที่ถูกเด็ดออกมาจากต้นแล้วจะกลายเป็นสมบัติของมนุษย์ผู้หนึ่งได้เพราะเหตุใด ตั้งแต่เมื่อมนุษย์นำแรงงานของตนเองกระทำกับมัน เปลี่ยนแปลงมัน และปกป้องความเป็นเจ้าของด้วยกลไกที่สังคมยอมรับ ผลไม้นั้นก็กลายเป็นสมบัติของมนุษย์ผู้นั้นได้ กล่าวคือ
- ทรัพยากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
- แรงงานและสติปัญญาของมนุษย์
- กลไกของสังคมในการปกป้องความเป็นเจ้าของ
ทรัพยากรจึงถูกกระทำด้วยแรงงานและสติปัญญาของมนุษย์ กระบวนการนี้เองจึงทำให้สติปัญญาของมนุษย์ถูกบรรจุหรือสถิตอยู่บนสิ่งของที่ถูกสร้างขึ้น หรือในขณะเดียวกันสติปัญญาของมนุษย์ถูกทำให้เป็นรูปร่างโดยการดึงทรัพยากรเข้ามาประกอบขึ้นนั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งของ กับ แรงงานและสติปัญญาของมนุษย์ จึงเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน
ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ขั้นตอนยังต่อด้วยกลไกทางสังคมเพื่อให้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของ เพื่อลดการแย่งชิงกัน ซึ่งการแย่งชิงกันย่อมหมายถึงปัญหาที่ตามมาไม่สิ้นสุด จึงกล่าวได้ว่า กลุ่มของมนุษย์ยินยอมหรือยอมรับคุณค่าที่เกิดขึ้นจากการก่อรูปร่างทางสติปัญญาขึ้นเป็นสิ่งของ และยังร่วมกันปกป้องการดำรงอยู่ของความเป็นเจ้าของของสติปัญญานั้น
วัตถุที่สะสมไว้ มีศักยภาพส่งต่อภูมิปัญญา หรือจะกล่าวได้ว่า วัตถุที่สะสมไว้ คือภูมิปัญญา และมันส่งต่อไปได้แม้จะอยู่ห่างไกลทั้งเวลา (Time) และสถานที่ (Space) หรือแม้เนื้อหนังของมนุษย์จะสลายไป แต่สิ่งสะสมยังคงดำรงอยู่ และมนุษย์ยังหวังว่ามันจะดำรงอยู่ต่อไป เพื่อให้มนุษย์ที่มียังชีวิตอยู่ในภพนี้หรือภพใดๆได้รับคุณค่าจากมัน
ในบทถัดไป เราจะไม่ได้ดูเฉพาะวัตถุสิ่งของเท่านั้น แต่เราจะดูรอบๆ วัตถุสิ่งของว่ามันมีนิเวศที่อยู่รอบๆ ตัวมัน นั่นหมายความว่า สติปัญญาไม่ได้แสดงออกเป็นรูปร่างวัตถุเท่านั้น แต่ยังมีมิติอื่นๆ ที่มากกว่านั้นด้วย
ผู้เขียน : Kunstkammer
#Collection #Minimalism #การสะสม #ปรัชญา #วัฒนธรรม